เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [10. โกสัมพิกขันธกะ] 272. ทีฆาวุวัตถุ
ภิกษุทั้งหลาย พวกเจ้าพนักงานทูลรับสนองพระราชดำรัสแล้วได้เอาเชือกที่
เหนียวแน่นมัดพระเจ้าทีฆีติพร้อมกับพระมเหสี มัดพระพาหาไพล่หลังให้แน่น กล้อน
พระเกศาแล้วพาตระเวนไปตามถนน ตามตรอกทุกแห่งพร้อมกับตีกลองให้ดังสนั่น
เวลานั้น ทีฆาวุราชกุมารทรงดำริดังนี้ว่า “นานแล้วที่เราได้เยี่ยมพระชนกชนนี
อย่ากระนั้นเลย เราควรไปเยี่ยมท่านทั้งสอง” จึงเดินทางเข้ากรุงพาราณสี ได้ทอด
พระเนตรเห็นเจ้าพนักงานเอาเชือกอย่างเหนียวมัดพระชนกชนนี มัดพระพาหาไพล่
หลังให้แน่น กล้อนพระเกศาแล้วพาตระเวนไปตามถนนตามตรอกทุกแห่งพร้อมกับ
ตีกลองให้ดังสนั่น จึงเสด็จเข้าไปใกล้พระชนกชนนี
ภิกษุทั้งหลาย พระเจ้าทีฆีติโกศลราชทอดพระเนตรเห็นทีฆาวุกุมารดำเนินมา
แต่ไกลจึงได้ตรัสดังนี้ว่า “พ่อทีฆาวุ เจ้าอย่าเห็นแก่ยาว อย่าเห็นแก่สั้น เวรย่อม
ไม่ระงับด้วยการจองเวร แต่ระงับได้ด้วยการไม่จองเวร”
เมื่อพระเจ้าทีฆีติโกศลราชตรัสอย่างนี้ พวกเจ้าพนักงานได้กราบทูลดังนี้ว่า
“พระเจ้าทีฆีติโกศลราชพระองค์นี้ทรงวิกลจริตจึงบ่นเพ้อ ใครคือทีฆาวุของพระเจ้า
ทีฆีติโกศลราชนี้ พระองค์ตรัสกับใครอย่างนี้ว่า ‘พ่อทีฆาวุ เจ้าอย่าเห็นแก่ยาว
อย่าเห็นแก่สั้น เวรย่อมไม่ระงับด้วยการจองเวร แต่ระงับได้ด้วยการไม่จองเวร”
พระเจ้าทีฆีติโกศลราชจึงตรัสตอบว่า “เราไม่ได้วิกลจริตบ่นเพ้อ ผู้ใดรู้แจ้ง
ผู้นั้นจะเข้าใจ”
ภิกษุทั้งหลาย แม้ครั้งที่ 2 ฯลฯ
แม้ครั้งที่ 3 พระเจ้าทีฆีติโกศลราชได้ตรัสกะทีฆาวุกุมารดังนี้ว่า “พ่อทีฆาวุ
เจ้าอย่าเห็นแก่ยาว อย่าเห็นแก่สั้น เวรย่อมไม่ระงับด้วยการจองเวร แต่ระงับได้
ด้วยการไม่จองเวร”
ภิกษุทั้งหลาย แม้ครั้งที่ 3 พวกเจ้าพนักงานก็ได้กราบทูลดังนี้ว่า “พระเจ้า
ทีฆีติโกศลราชพระองค์นี้ทรงวิกลจริตจึงบ่นเพ้อ ใครคือทีฆาวุของพระเจ้าทีฆีติโกศล
ราชนี้ พระองค์ตรัสกับใครอย่างนี้ว่า ‘พ่อทีฆาวุ เจ้าอย่าเห็นแก่ยาว อย่าเห็นแก่สั้น
เวรย่อมไม่ระงับด้วยการจองเวร แต่ระงับได้ด้วยการไม่จองเวร”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 5 หน้า :347 }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [10. โกสัมพิกขันธกะ] 272. ทีฆาวุวัตถุ
พระเจ้าทีฆีติโกศลราชก็ยังคงตรัสว่า “เราไม่ได้วิกลจริตบ่นเพ้อ ผู้ใดรู้แจ้ง ผู้นั้น
จะเข้าใจ”
ภิกษุทั้งหลาย ลำดับนั้น พวกเจ้าพนักงานได้นำพระเจ้าทีฆีติโกศลราชพร้อม
กับพระมเหสีตระเวนไปตามถนนตามตรอกทุกแห่งแล้วให้ออกไปทางประตูด้านทิศ
ทักษิณแล้วบั่นพระกายเป็น 4 ท่อนแล้ววางเรียงไว้ในหลุมทั้ง 4 ทิศทางด้านทิศ
ทักษิณแห่งเมือง วางยามคอยระวังเหตุการณ์ไว้แล้วพากันกลับ
ต่อมา ทีฆาวุกุมารลอบเสด็จเข้าไปยังกรุงพาราณสี นำสุรามาเลี้ยงพวกอยู่ยาม
เมื่อพวกยามเมาฟุบลง จึงจัดหาฟืนมาวางเรียงกันแล้วหาไม้มาสร้างจิตกาธานยก
พระบรมศพของพระชนกชนนีขึ้นสู่จิตกาธาน ถวายพระเพลิงแล้วประนมพระหัตถ์
ทำประทักษิณจิตกาธาน 3 รอบ
[461] ภิกษุทั้งหลาย สมัยนั้น พระเจ้าพรหมทัตกาสีราชประทับอยู่ชั้นบน
ปราสาท ทอดพระเนตรเห็นทีฆาวุกุมารกำลังประนมพระหัตถ์ทำประทักษิณจิตกาธาน
3 รอบ จึงทรงดำริดังนี้ว่า “พนักงานผู้นั้นคงเป็นญาติหรือคนร่วมสายโลหิตของ
พระเจ้าทีฆีติโกศลราชแน่ น่ากลัวจะก่อความพินาศแก่เรา ช่างไม่มีใครบอกเราเลย”
ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้น ทีฆาวุกุมารเสด็จหลบเข้าป่า ทรงกันแสงด้วยความ
โศกเศร้าพระทัย ทรงซับน้ำพระเนตรแล้วเสด็จเข้ากรุงพาราณสี ถึงโรงช้างใกล้
พระบรมมหาราชวัง ตรัสแก่นายหัตถาจารย์ดังนี้ว่า “ท่านอาจารย์ ผมอยากเรียน
ศิลปวิทยา”
นายหัตถาจารย์ตอบว่า “ถ้าอย่างนั้น เชิญพ่อหนุ่มมาเรียนเถิด”
เช้ามืดวันหนึ่ง ทีฆาวุกุมารทรงตื่นบรรทม ทรงขับร้องดีดพิณคลอเสียงเจื้อย
แจ้วอยู่ที่โรงช้าง พระเจ้าพรหมทัตกาสีราชทรงตื่นบรรทมเวลานั้นพอดี ได้ทรงสดับ
เสียงเพลงและเสียงพิณที่ดังแว่วมาทางโรงช้าง จึงตรัสถามพวกเจ้าพนักงานว่า “ใคร
กันตื่นแต่เช้าขับร้องดีดพิณแว่วมาทางโรงช้าง”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 5 หน้า :348 }